ข้อมูลโรคต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis) ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis) คือภาวะที่ต่อมน้ำเหลืองเกิดการอักเสบ และบวมขึ้นจนมีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ โดยอาจจะเกิดกับต่อมน้ำเหลืองเพียงตำแหน่งเดียว หรือหลาย ๆ ตำแหน่งพร้อมกันก็ได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดขึ้นกับร่างกายเพียงซีกเดียว หรือทั้ง 2 ซีก และมีทั้งแบบเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน หรือเป็นเรื้อรังจนต้องรักษาในระยะยาว
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบรักษาให้หายได้ โดยแนวทางในการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความรุนแรงของอาการ ซึ่งหากอาการอักเสบไม่ส่งผลรุนแรงมากนัก แพทย์อาจแนะนำให้ติดตามดูอาการเป็นระยะ หรืออาจใช้ยาหากมีการติดเชื้อ ทว่าหากรักษาด้วยการใช้ยาแล้วไม่ได้ผลก็อาจต้องใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย
อาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
โดยปกติแล้วอาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบมักจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและบริเวณที่มีต่อมน้ำเหลืองอักเสบอยู่ อาการหลัก ๆ ที่พบได้คือ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต มีอาการกดเจ็บที่ต่อมน้ำเหลือง นอกจากนั้น ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
มีอาการบวม หรือกดเจ็บที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ
ต่อมน้ำเหลืองเกิดการแข็งตัว หรือขยายตัวอย่างผิดปกติ
ผิวหนังบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบแดง หรือมีริ้วสีแดงขึ้น
มีหนองในต่อมน้ำเหลือง
มีของเหลวไหลออกมาจากต่อมน้ำเหลืองและคั่งอยู่ที่ผิวหนัง
ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบมีอาการบวม
นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง อันได้แก่
ระบบทางเดินหายใจส่วนบนผิดปกติ เช่น มีไข้ คัดจมูก เจ็บคอ
แขนหรือขาบวม
มีเหงื่อออกขณะนอนหลับ
อาการที่เกิดร่วมกับภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษา เพราะภาวะต่อมน้ำเหลืองโตอาจมีอาการคล้ายกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ดังนั้น จึงควรรีบไปพบแพทย์หากเกิดอาการเหล่านี้ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
โดยส่วนใหญ่แล้วต่อมน้ำเหลืองอักเสบมักเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการอักเสบ หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสหรือเชื้อรา อีกทั้งหากมีเนื้องอกผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณต่อมน้ำเหลืองก็อาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้เช่นกัน
นอกจากนั้น ต่อมน้ำเหลืองอักเสบยังอาจเกิดขึ้นหลังจากผิวหนังติดเชื้อ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างเชื้อสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) หรือเชื้อสตาฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) ส่วนกรณีที่พบได้น้อยมากคือ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดขึ้นจากการติดเชื้อวัณโรค หรืออาจจะเกิดจากโรคแมวข่วน
การวินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
ในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจสังเกตถึงความผิดปกติได้จากการสำรวจตัวเอง หากมีก้อนที่มีลักษณะบวมผิดปกติ กดแล้วรู้สึกเจ็บ เกิดขึ้นบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
ในเบื้องต้น แพทย์จะเริ่มตรวจด้วยการซักประวัติ และตรวจร่างกาย และจะคลำบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบเพื่อตรวจดูว่ามีอาการบวมหรือรู้สึกเจ็บเมื่อคลำหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะซักถามเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้น ก่อนที่แพทย์จะสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยวิธีที่แพทย์มักใช้ ได้แก่
การตรวจเลือด การตรวจเลือดจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นสัญญาณของการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นภายในร่างกายได้
การเอกซเรย์ ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีเนื้องอก หรืออาจมีอาการของโรคมะเร็ง แพทย์จะใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง หรือตรวจหาสาเหตุความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองนั้นต่อไป
การเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจชิ้นเนื้อ เป็นวิธีหลักที่แพทย์ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างของเนื้อเยื่อจากต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน
การเพาะเชื้อ คืออีกหนึ่งวิธีที่แพทย์ใช้เพื่อระบุเชื้อต้นเหตุของอาการอักเสบในต่อมน้ำเหลือง โดยแพทย์จะเจาะนำตัวอย่างน้ำเหลืองไปเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ ผลที่ออกมาจะทำให้แพทย์ระบุสาเหตุได้อย่างถูกต้อง
เมื่อแพทย์ได้ผลการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ แล้ว แพทย์จะนำมาประกอบกับข้อมูลที่ได้ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอากาารอักเสบอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายได้ในเวลารวดเร็ว แต่ในบางรายอาจไม่จำเป็นต้องรักษา อย่างเช่นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันแบบก่อเอง (Active Immune Systems) เนื่องจากร่างกายขจัดเชื้อโรคไปจนหมดแล้ว แต่ต้องติดตามอาการเป็นระยะ เพื่อป้องกันการปะทุของโรค ทั้งนี้วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยการรักษามีหลายวิธี ดังนี้
การรักษาด้วยตนเองเบี้องต้น ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงมากนัก แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาลดปวด ลดไข้ ควบคู่กับการประคบด้วยน้ำอุ่นเพื่อให้อาการบวมจากการอักเสบค่อย ๆ ลดลง
การใช้ยา ในรายที่มีสาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบจากการติดเชื้อ แพทย์จะสั่งใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดอาการติดเชื้อ ซึ่งจะช่วยให้อาการอื่น ๆ เช่น ลดอาการปวดบวมลง ทว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะต้องใช้ตามที่แพทย์เป็นผู้กำหนดเท่านั้น เพื่อป้องกันภาวะเชื้อดื้อยาในภายหลัง
การระบายหนองออกจากฝี การอักเสบของต่อมน้ำเหลืองอันเนื่องมาจากการติดเชื้อ อาจทำให้เกิดฝีได้ จึงอาจต้องมีการเจาะเพื่อระบายของเหลวภายในฝีออก โดยวิธีนี้ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ โดยในการระบายหนองออกนั้นแพทย์จะใช้ยาชากับบริเวณที่มีฝี จากนั้นจึงกรีดเพื่อระบายของเหลวออก แล้วใส่ผ้าก๊อซลงไปในแผลเพื่อให้หนองที่ยังค้างอยู่ภายในแผลระบายออกมา แต่ในบางกรณีก็อาจใส่ท่อเล็ก ๆ เพื่อช่วยระบายหนองออกมา จากนั้นเมื่อแพทย์ตรวจติดตามแล้วไม่พบหนองภายในแผลก็จะนำผ้าก๊อซและสายระบายออก จากนั้นจึงปิดปากแผลเพื่อป้องกันเชื้อโรค
การรักษาโรคมะเร็ง หากภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากเนื้องอกที่มีเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งอย่างเป็นขั้นตอน โดยวิธีการรักษานั้นมีหลากหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือฉายแสง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาจากชนิดของมะเร็ง ระยะความรุงแรง และความเหมาะสมของผู้ป่วย
ภาวะแทรกซ้อนของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบอย่างถูกต้อง และทันท่วงที อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต อย่างเช่น
ฝีในร่างกาย
การอักเสบของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึก
เกิดท่อเชื่อมต่อที่ผิดปกติภายในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรค
การติดเชื้อในกระแสเลือด
ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองอักเสบควรเข้ารับการรักษาโดยทันทีเมื่อมีอาการต้องสงสัย และควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันอาการลุกลาม
การป้องกันต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดของภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบคือ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการไข้ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการอักเสบ โดยหากมีอาการบวมกดเจ็บ และคลำเจอก้อนใต้ผิวหนัง หรือรู้สึกเหมือนมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นที่ใต้ผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งในร่างกายอย่างผิดปกติ ไม่ควรเจาะ หรือเกา เนื่องจากอาจทำให้อาการยิ่งรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบนั้น สามารถป้องกันอาการรุนแรงหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิดหากไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน เมื่อมีอาการเจ็บปวด หรือมีอาการบวมบริเวณที่เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ควรใช้ของเย็นประคบ จะช่วยบรรเทาอาการได้ ทั้งนี้ หากและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม อาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบก็อาจหายอย่างรวดเร็ว แต่คงต้องใช้ระยะเวลาสักพักกว่าอาการต่อมน้ำเหลืองบวมจะลดลง ผู้ป่วยควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีสัญญาณบ่งบอกถึงการกลับมาเป็นซ้ำของต่อมน้ำเหลืองอักเสบควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์วางแผนและหาวิธีป้องกันความรุนแรงของต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น